top of page
รูปภาพนักเขียนWealth-being by noburo

เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว --ทำไมเราต้องแก้ปัญหาหนี้ด้วยการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)


จากประสบการณ์ของหลายๆบริษัทที่มีระบบสหกรณ์ของตัวเอง นายจ้างและ HR ชอบมาเล่าให้พวกเราฟังว่าปวดหัวเรื่องพนักงานลาออกกันยกชุด เพราะระบบการค้ำประกันกันเป็นลูกโซ่ตอนกู้เนี่ยแหละ พอคนหนึ่งลาออกเพื่อหนีหนี้ เพื่อนที่เหลือก็ต้องตัดสินใจหนีหนี้ลาออกเพราะแบกหนี้แทนเพื่อนไม่ไหว ทำให้บริษัทเสียคนดีๆไปโดยใช่เหตุ นี่เป็นตัวอย่างของการที่เราออกนโยบายอย่างหนึ่ง แต่ไปกระทบกับเรื่องอื่นๆที่เราคิดไม่ถึง เพราะเรื่องพวกนี้เป็นปัญหาที่ซับซ้อนเชิงระบบนั่นเองค่ะ



เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทีม noburo ได้เชิญพี่ไมเคิล อธิวรรธน์ วงศ์ไวศยวรรณ ผู้คร่ำหวอดในการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม มาเสริมความรู้และจัด workshop ให้พวกเราเรื่อง "Systems Thinking Lens" หรือ “มองผ่านเลนส์ของการคิดเชิงระบบ” ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆสำหรับการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน อย่างเรื่องหนี้


พี่ไมเคิลเริ่ม workshop ด้วยการเล่าเรื่องการกำจัดนกกระจอก (และ ยุง หนู แมลงวัน) ครั้งยิ่งใหญ่ของทางการจีนในช่วงทศวรรษที่ 1950 เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดในพืชและในสัตว์เลี้ยงที่มีผลต่อเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศในเวลานั้น แต่แล้วหลังจากการขาดหายไปของนกกระจอกจากห่วงโซ่อาหาร ปริมาณตั๊กแตนที่เป็นอาหารของนกกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ และอาหารของตั๊กแตนก็ไม่ใช่พืชอื่นใดนอกเสียจากรวงข้าวที่คนจีนทั่วประเทศเพาะปลูก ปัญหาที่ตามมาก็คือการขาดแคลนผลผลิตข้าวจนถึงขั้นที่ประชากรอดอยากและเสียชีวิตถึง 50 ล้านคนในเวลาเพียงสามปี



เรื่องราวของการกำจัดนกกระจอกและผลที่ตามมานั้นเหมือนกับคำกล่าวของ Paul Dirac ที่ว่า "Pick a flower on Earth and you move the farthest star" หรือ เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว นั่นก็คือ เวลาที่เราตัดสินใจจะทำอะไรสักอย่าง อาจจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงแบบที่เราคาดไม่ถึงในอนาคตเลยก็ได้ และปัญหาส่วนใหญ่เหล่านี้ มักจะเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมานั่นเอง


วิธีการมองปัญหาที่ซับซ้อนเชิงระบบ มีหลายกรอบความคิดที่น่าสนใจ แต่ในที่นี้เราจะพูดถึงแค่ 2 กรอบก่อน นั่นก็คือ Casual Loop Diagram และ Iceberg Model


ขอบคุณภาพจาก Disrupt Design


  1. Causal Loop Diagram

คือการแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง 2 สิ่ง โดยพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 สิ่งนั้นว่า เป็นบวกหรือเป็นลบ เช่น กรณีนกกระจอก กับ ตั๊กแตน ถ้านกกระจอกมีจำนวนเพิ่มขึ้น ตั๊กแตนก็จะลดลง ดังนั้นความสัมพันธ์จากนกกระจอกไปตั๊กแตน จะเป็น negative effect แต่ในทางกลับกัน ถ้าตั๊กแตนเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผล positive effect ให้นกกระจอกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย (เพราะนกกระจอกกินตั๊กแตนเป็นอาหาร)


นอกจากนี้เรายังสามารถเพิ่มจำนวน node หรือ สิ่งที่มีผลกระทบในวงจรนี้เพิ่มเข้าไปเช่น นาข้าว หรือ ความเป็นอยู่ของชาวนา, ประชาชน และต่อๆไปได้ไม่จำกัดเพื่อดูผลกระทบของความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้น


สามารถลองเล่น tools เพื่อออกแบบ causal loop ได้ที่ https://ncase.me/loopy/v1.1/


2. Iceberg Model

คือเครื่องมือที่ให้เราช่วยคิดให้ลึกลงไปถึงต้นตอของปัญหา เหมือนการมองภูเขาน้ำแข็งทั้งลูก โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ได้แก่


  1. Events - สิ่งที่เกิดขึ้นและเราเห็น ณ ตอนนั้น

  2. Patterns/Trends - มีการเกิดขึ้นของปัญหาซ้ำๆกันหรือไม่ ถ้ามี เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ใด

  3. Underlying Structures - อะไรคือสิ่งที่มีอิทธิพลกับการเกิดซ้ำๆนั้น ความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนเป็นแบบไหน ส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น กฏระเบียบ นโยบาย

  4. Mental Models ความเชื่อของคน หรือ คุณค่าที่คนยึดถือ ที่ทำให้เกิดปัญหาตัวนี้เกิดขึ้น


ถ้าหากเราอยากแก้ปัญหาให้ได้ผลดีที่สุดและถาวรที่สุด ต้องแก้ในชั้นที่ลึกๆที่สุดเพราะเป็นส่วนที่เป็นรากฐานของปัญหาที่เรากำลังเผชิญนั่นเองค่ะ


ขอบคุณภาพจาก ecochallenge.org


ทีนี้เรามาลองดูตัวอย่างง่ายๆ ของการเป็นไข้หวัดภายใต้กรอบของภูเขาน้ำแข็งกันค่ะ


จากปัญหาง่ายๆเรื่องหวัด เราจะเห็นว่าจริงๆแล้วก็แอบมีความซับซ้อนในตัวของมันอยู่ไม่น้อยเลย ถ้าไม่ได้ใช้กรอบของภูเขาน้ำแข็งก็คงยังมองไม่เห็นต้นตอ แล้วถ้าเป็นปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบหละ เราจะสามารถวิเคราะห์ปัญหาได้แบบไหนบ้าง ไปดูกันเลย



สรุปแล้วสำหรับนายจ้าง หรือ HR อย่างเราๆที่มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผลประกอบการของบริษัท กรอบการแก้ปัญหาเชิงระบบ (Systems Thinking) มีความสำคัญมากๆในการออกแบบนโยบาย หรือ การตัดสินใจใดๆ การมองปัญหาที่เกิดขึ้นแบบองค์รวม จะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องซ้ำๆ และผลกระทบในอนาคตที่เราไม่คาดคิดได้ โนบูโรขอให้กำลังใจและมีความเชื่อมั่นว่า แม้ปัญหาที่ซับซ้อนเพียงใดย่อมมีทางแก้ แค่เพียงเราต้องเข้าใจภาพรวม ความสัมพันธ์ และผลกระทบของมัน โดยใช้กรอบความคิดที่เราพูดถึงในวันนี้นั่นเองค่ะ 💙




ดู 1,922 ครั้ง

Comments


bottom of page